บีซีพีจี เผยโครงการโซลาร์ราชการร่วมกับองค์การทหารผ่านศึกขายไฟฟ้าได้เป็นรายแรกในประเทศ คาดรับรู้รายได้ทันทีในก.ค.นี้

           นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการ   (โซลาร์ราชการ) กับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ที่บริษัทฯ เป็นผู้ร่วมลงทุน ก่อสร้างโดย บริษัท โปรเซสเอ็นจิเนียรีิ่ง เซอร์วิส จำกัด (PESCO) จำนวน 2 โครงการ รวมกำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการที่อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ร่วมกับ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตลพบุรี กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ และโครงการที่อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ร่วมกับ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตสุพรรณบุรี กำลังการผลิตประมาณ 4 เมกะวัตต์ เป็น 2 โครงการแรกของประเทศที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ในวันที่ 20 -23 ก.ค.นี้ 

 

             โครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ราชการกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกทั้ง 2 โครงการนี้ สามารถรับรู้รายได้ในเดือนกรกฎาคม 2561 ภายใต้อัตราการรับซื้อไฟฟ้า       ที่ 4.12 บาท/หน่วย  เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยได้รับการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี   

            ทั้งนี้ บีซีพีจีมีนโยบายในการดำเนินงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรและสังคมในวงกว้าง ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ตามแนวทางการทำกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)ซึ่งการสนับสนุนโครงการโซลาร์ราชการกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและสหกรณ์การเกษตรซึ่งบีซีพีจีได้เข้าร่วมโครงการไปก่อนหน้านี้ ถือเป็นการดำเนินงานในแนวทางดังกล่าว    

            โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งสิ้นประมาณ  600  เมกะวัตต์ในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย ผ่านการลงทุนและดำเนินการธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจพลังงานลมและธุรกิจพลังงานความร้อนใต้พิภพ และกำลังรุกเข้าสู่การทำธุรกิจกับผู้บริโภคโดยตรง ด้วยการนำเทคโนโลยี blockchain มาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าและบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

S__17645587.jpg    S__14729296_0.jpg

S__17645585_2.jpg   S__17645588.jpg

ที่มา : http://www.banmuang.co.th/news/economy/118781